โปรแกรม Paperless เป็นโปรแกรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับระบบ E-Paperless ซึ่งทางกรมศุลกากรได้ประกาศให้มีการใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2549 เพื่อให้การดำเนินการพิธีการศุลกากรเป็นไปแบบไร้เอกสาร
โดยเริ่มต้นใช้กับใบขนสินค้าขาออกและใบเคลื่อนย้ายสินค้า (Goods Control List) ส่วนใบขนขาเข้ายังคงให้เดินพิธีการศุลกากรด้วยระบบ EDI (หรือ Electronic Data Interchange) ตามเดิม
อย่างไรก็ตาม โปรแกรม Paperless นี้ นอกจากจะใช้สำหรับการทำใบขนขาออกและขาเข้าแล้ว ยังครอบคลุมการดำเนินการพิธีการอย่างอื่นด้วย อาทิ การส่งข้อมูลใบเคลื่อนย้ายสินค้า ซึ่ง upgrade มาจาก E-Container ที่เคยอยู่บนระบบ EDI การส่งข้อมูลรายงานเรือเข้า (E-Manifest) และการส่งข้อมูลการชำระภาษีขาเข้า (E-Payment)
จะเห็นได้ว่าโปรแกรม Paperless นั้น มีความเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าโดยตรง และเป็นสิ่งที่บริษทผู้นำเข้าสินค้าหรือชิปปิ้งหรือโลจิสติกส์จำเป็นต้องใช้โดยตรง วันนี้ เราจึงมีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้ของพิธีการนำเข้ากับกรมศุลกากรมาบอกเล่า 3 ขั้นตอน ได้แก่
การโอนถ่ายหรือยื่นข้อมูลใบขนสินค้า
ขั้นตอนแรกนี้ บริษัทผู้นำเข้าสินค้า (Shipper) จะมีการบันทึกข้อมูลบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ของทุกรายการเข้าไปในระบบ Service Counter ซึ่งโปรแกรมนี้จะแปลงข้อมูลบัญชีราคาสินค้าให้เป็นข้อมูลใบขนสินค้าให้อัตโนมัติ โดยบริษัทผู้นำสินค้าเข้า สามารถใช้เอกสารใบขนส่งสินค้าที่ถูกแปลงข้อมูล นำส่งให้กับทางกรมศุลกากรผ่านทางอินเตอร์ได้ทันที
เมื่อกรมศุลกากรได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็จะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในใบขนส่งสินค้าเพื่อตรวจสอบ ชื่อและที่อยู่ของผู้นำเข้า เลขประจำตัวผู้เสียภาษี พิกัดอัตราศุลกากร และราคาของสินค้านั้นมีความถูกต้องหรือไม่ หากข้อมูลที่กรอกไป มีข้อผิดพลาด ทางกรมศุลกากรจะแจ้งข้อมูลเหล่านั้นกลับมาเพื่อให้บริษัทขนส่งได้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อส่งไปให้กรมศุลกากรใหม่อีกครั้ง เมื่อข้อมูลถูกต้องครบถ้วน กรมศุลกากรจึงจึงออกใบเลขที่ขนสินค้าขาเข้าให้กับลูกค้าต่อไป
การตรวจสอบพิสูจน์ข้อมูลต่างๆ
ขั้นตอนนี้เป็นการตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ที่กรมศุลกากรกำหนดไว้อย่างละเอียด โดยดูจากข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ยื่นให้กับกรมศุลกากร ซึ่งในขั้นตอนนี้ สินค้าจะถูกแยกออกเป็น 2 ประเภทคือ ใบขนสินค้าขาเข้าประเภทที่ไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Green Line) ทางบริษัทผู้นำเข้าจะนำใบขนสินค้าขาเข้าไปชำระภาษีอากรและวางประกันที่เกี่ยวข้อง โดยทั่วไป จะชำระได้ที่กรมศุลากากร ชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือชำระผ่านธนาคาร อีกประเภทหนึ่งคือใบขนสินค้าขาเข้าประเภทที่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Red Line) โดยจะต้องนำใบขนสินค้าไปติดต่อกับหน่วยงานประเมินอากรของท่าเรือที่นำเข้าสินค้านั้นๆ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สถานะใบขนมี 2 ประเภท
การตรวจและการปล่อยสินค้า
ภายหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจสอบความเรียบร้อยแล้ว การปล่อยสินค้าจะถูกส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปที่ท่าเรือ เมื่อผ่านการชำระภาษีอากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ข้อมูลของสินค้าจะถูกตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียด พร้อมทั้งผ่านการเปิดตรวจหรือยกเว้นการตรวจ ถ้าหากใบขนสินค้านั้นได้รับการยกเว้นโดยหลังจากผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว สถานะการปล่อยสินค้าจะถูกส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปที่ท่าเรือที่ได้กำหนดไว้ และสามารถนำเข้าสินค้าได้ตามลำดับ